ความขัดแย้งระหว่างคณะราษฎรกับ "คณะเจ้า" (พ.ศ. 2475–81) ของ ประวัติศาสตร์ไทย (พ.ศ. 2475–2516)

รัฐบาลพระยามโนปกรณนิติธาดา

พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานรัฐธรรมนูญ วันที่ 10 ธันวาคม 2475

การปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 เป็นเหตุการณ์เปลี่ยนระบอบการปกครองของสยามจากสมบูรณาญาสิทธิราชมาเป็นราชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ นำโดยคณะบุคคลที่เรียก คณะราษฎร โดยมีสาเหตุส่วนหนึ่งจากการกำเนิดของข้าราชการใหม่ซึ่งเป็นชนชั้นกลางหลังการปฏิรูปขยายระบบราชการในปี 2435[1]:18–9 โดยสบโอกาสในช่วงที่สยามได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ ภายในเวลาห้าวัน คณะราษฎรนำมาซึ่งรัฐธรรมนูญฉบับแรก ตั้งสภาผู้แทนราษฎรและรัฐบาล ในขณะเดียวกัน ผู้นำคณะราษฎรฝ่ายทหารเข้าควบคุมตำแหน่งสำคัญในกองทัพบกเพื่อสร้างฐานอำนาจของตน[1]:41–2

วันที่ 28 มิถุนายน 2475 สภาผู้แทนราษฎรประชุมกันครั้งแรก มีมติเลือกพระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นประธานกรรมการราษฎร (นายกรัฐมนตรี) คนแรก มีการตั้งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจำนวน 7 คน โดยมีสมาชิกคณะราษฎรเพียงคนเดียว ส่วนที่เหลือเป็นขุนนางระดับเจ้าพระยาในระบอบเก่า นับว่าคณะราษฎรไม่มีฐานอำนาจพอที่จะผลักดันวาระของพวกตน[1]:126–7 การร่างรัฐธรรมนูญใช้เวลาเพียง 5 เดือนก็มีการประกาศใช้ในวันที่ 10 ธันวาคม 2475 นับเป็นรัฐธรรมนูญถาวรฉบับแรกและฉบับที่ใช้ยาวนานที่สุดของประเทศ หลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญ มีการตั้งรัฐบาลใหม่โดยพระยามโนปกรณนิติธาดา (ก้อน หุตะสิงห์) เป็นนายกรัฐมนตรีต่อ มีสมาชิกคณะราษฎรร่วมคณะรัฐมนตรีด้วยหลายคนแต่เป็นเพียงตำแหน่งลอย[1]:127–8

ในเดือนมกราคม 2476 รัฐบาลประกาศห้ามตั้ง "สมาคมคณะชาติ" ซึ่งประกอบด้วยขุนนางในระบอบเก่า ซึ่งเท่ากับห้ามคณะราษฎรไปโดยปริยายด้วย ทั้งนี้ รัฐบาลถือว่าข้าราชการไม่พึงเข้ามายุ่งเกี่ยวกับการเมือง และรับสนองพระราชหัตถเลขาของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวที่ไม่ทรงโปรดให้มีพรรคการเมือง[1]:132–3 ในเดือนมีนาคม 2476 เค้าโครงการเศรษฐกิจแห่งชาติ ("สมุดปกเหลือง") ที่หลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) เป็นผู้เสนอโดยมีใจความสำคัญคือ รัฐบาลจะซื้อที่ดินเพาะปลูกทั้งหมดแล้วให้ชาวนาเป็นลูกจ้างรัฐบาล รัฐบาลเป็นเจ้าของร้านค้า นับเป็นการตัดพ่อค้าคนกลาง ก่อให้เกิดปฏิกิริยาตอบโต้โดยปรีดีถูกกล่าวหาว่าเป็นคอมมิวนิสต์[1]:134,138–9 พระยามโนปกรณนิติธาดายังเอาพระบรมราชวินิจฉัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (เรียก "สมุดปกขาว") มาเสนอในที่ประชุมคณะรัฐมนตรีด้วย ทำให้ปรีดีลาออก[1]:140–1

วันที่ 1 เมษายน 2476 สืบเนื่องจากความแตกแยกระดับสูงทำให้พระยามโนปกรณนิติธาดาออกกฤษฎีกาปิดประชุมสภาฯ และงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา ซึ่งพระราชกฤษฎีกาดังกล่าวปรากฏชื่อสมาชิกคณะราษฎรส่วนหนึ่งด้วย ซึ่งอาจถือได้ว่าแยกไปเข้ากับระบอบเก่า[1]:143,145 รัฐบาลใหม่รีบออกพระราชบัญญัติว่าด้วยคอมมิวนิสต์ พ.ศ. 2476 และแก้ไขประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ โดยทั้งสองมีจุดประสงค์เพื่อขจัดการวางแผนเศรษฐกิจที่เป็นภัยต่อระบอบเก่า[1]:145–6 วันที่ 20 มิถุนายน 2476 นายทหารบกและทหารเรือซึ่งมีพันเอก พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) เป็นหัวหน้า ยึดอำนาจการปกครองโดยระบุเหตุผลว่าเพื่อให้เปิดประชุมสภาและขจัดผู้เผด็จการ

รัฐบาลพระยาพหลพลพยุหเสนา, กบฏบวรเดช, การสละราชสมบัติ

ดูเพิ่มเติมที่: กบฏบวรเดช

พระยาพหลพลพยุหเสนา (พจน์ พหลโยธิน) ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี 5 ปี นับเป็นช่วงที่คณะราษฎรเริ่มกุมอำนาจทางการเมือง รัฐบาลพยายามสถาปนาระบอบรัฐธรรมนูญ รัฐบาลประสบความสำเร็จในการแก้ไขสนธิสัญญาไม่เป็นธรรมกับชาติตะวันตก มีการร่างประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาและประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งในปี 2477 และ 2478 ซึ่งเป็นเงื่อนไขของการยกเลิกสนธิสัญญาเหล่านี้ จนสำเร็จในปี 2482

แผนที่จังหวัดที่เข้าร่วมกบฏบวรเดช
  ฝ่ายพระองค์เจ้าบวรเดช
  ฝ่ายรัฐบาล

ปฏิกิริยาต่อการเดินทางกลับประเทศสยามของหลวงประดิษฐ์มนูธรรมในเดือนเมษายน 2476 นั้น ปรากฏว่า วันที่ 11 ตุลาคม 2476 พระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดช อดีตเสนาบดีกระทรวงกลาโหม นำทหารจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลางบางส่วนนำกำลังมาทางรถไฟและเข้ายึดสนามบินดอนเมือง ข้อกล่าวหาของ "คณะกู้บ้านกู้เมือง" มีว่าคณะรัฐมนตรีปล่อยให้มีการหมิ่นพระบรมเดชานุภาพและปล่อยให้หลวงประดิษฐ์มนูธรรมกระทำการแบบคอมมิวนิสต์ต่อไป รัฐบาลนำกำลังเข้าปราบปรามเริ่มตั้งแต่วันที่ 12–13 ตุลาคม จนวันที่ 16 ตุลาคม ฝ่ายรัฐบาลยึดสนามบินดอนเมืองคืนได้ รัฐบาลเดินทางโดยรถไฟไล่ตามกบฏที่ถอนกำลัง จนยึดนครราชสีมาได้ในวันที่ 25 ตุลาคม ในที่สุดพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าบวรเดชทรงลี้ภัยไปยังอินโดจีน[1]:158–9 มีการประเมินว่าทรัพย์สินเสียหายเป็นมูลค่า 3 ล้านบาท ทหารฝ่ายรัฐบาลเสียชีวิต 15 นาย ต่อมารัฐบาลสร้างอนุสาวรีย์พิทักษ์รัฐธรรมนูญที่วงเวียนหลักสี่[1]:159 รัฐบาลตั้งศาลพิเศษเพื่อพิจารณาโทษฝ่ายกบฏ มีจำเลย 318 คน ลงโทษถอดยศและบรรดาศักดิ์ 35 คน จำคุกตลอดชีวิต 47 คน อีก 107 คนถูกจำคุก[1]:160

บทบาทของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวในกบฏครั้งนี้นั้นเป็นประเด็นถกเถียงตลอดมา รัฐบาลกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมีความขัดแย้งกันมากขึ้น และมีการกล่าวหาว่าราชสำนักสมทบเงินแก่กบฏ พระองค์ทรงประทับอยู่ที่จังหวัดสงขลาเกือบตลอดเวลา ประเด็นเรื่องพระราชอำนาจในการแต่งตั้งสมาชิกสภาฯ ประเภทสองจำนวน 78 คน ในเดือนมกราคม 2476 (นับแบบเก่า)[1]:161 พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จไปประทับยังประเทศอังกฤษเพื่อรักษาพระเนตร โดยมีบุคคลสำคัญในระบอบเก่าทยอยออกนอกประเทศไปเป็นจำนวนมาก เดือนพฤศจิกายน 2477 ผู้แทนรัฐบาลปฏิเสธข้อต่อรองของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัวจนตกลงกันไม่ได้ จนทรงตัดสินพระทัยสละราชสมบัติเมื่อวันที่ 2 มีนาคม 2477 (นับแบบเก่า) ทั้งนี้ พระองค์ทรงเห็นว่าตราบเท่าที่สยามยังไม่เป็นประชาธิปไตยแท้จริง พระมหากษัตริย์ก็ยังต้องมีพระราชอำนาจส่วนหนึ่ง แต่คณะราษฎรเห็นว่าพระมหากษัตริย์ควรเป็นประมุขเชิงสัญลักษณ์แบบพระมหากษัตริย์อังกฤษเท่านั้น[1]:164

จากนั้น รัฐบาลสถาปนาพระวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอานันทมหิดล ขณะทรงมีพระชนมายุ 8 พรรษา ผู้ทรงกำลังศึกษาอยู่ในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นพระมหากษัตริย์พระองค์ถัดไป มีการจัดการเลือกตั้งโดยอ้อมในเดือนพฤศจิกายนและธันวาคม 2476 นับเป็นการเลือกตั้งทางอ้อมครั้งเดียวของไทย โดยในขณะนั้นประชาชนเลือกผู้แทนตำบล ซึ่งจะทำหน้าที่แลกผู้แทนราษฎรอีกต่อหนึ่ง ไม่มีการตั้งพรรคการเมือง และหญิงมีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งเช่นเดียวกับบุรุษ รัฐบาลดำเนินนโยบายเศรษฐกิจแบบผสม มีแผนสร้างถนนทั่วประเทศ ท่าเรือคลองเตย ขุดลอกสันดอนปากแม่น้ำเจ้าพระยา รัฐบาลเข้าจัดการการค้าข้าวและน้ำมันเชื้อเพลิงอันเป็นจุดเริ่มต้นของรัฐวิสาหกิจ[1]:167–8 ผู้แทนราษฎรในช่วงนี้ทำหน้าที่ของตนได้อย่างดี เป็นการกลบข้ออ้างว่าประเทศไทยไม่พร้อมสำหรับประชาธิปไตย[1]:168 ในช่วงนี้จากการตรวจสอบของ ส.ส. ฝ่ายค้าน ทำให้พระยาพหลพลพยุหเสนาลาออกถึง 3 ครั้ง[1]:169